ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep).
ปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งเต้านม และยังมีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยถึง 7 คนต่อวัน โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus; HPV) เป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และร้ายแรงกว่านั้นคือการที่เราได้รับเชื้อโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือเมื่อรู้ก็อาจสายเกินไปที่จะรักษา
อาการแบบไหน ที่ควรตรวจภายใน และมะเร็งปากมดลูก
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็ง
- ผู้หญิงที่เว้นว่างจากการตรวจมาระยะหนึ่งแล้ว
- ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิงหรือยาคุมกำเนิดระยะเวลานาน
- ผู้หญิงที่ควรได้รับการตรวจครั้งแรก หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกประมาณ 3 ปี
- ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป
- มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้หญิงทั่วไปที่เคยมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้หญิงที่มีอาการตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติ
- ปวดท้องน้อยบ่อย ท้องผูก ท้องอืด แน่นท้องเป็นประจำ
โปรแกรมแนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep) พร้อมกับ ตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (TVS) เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติของมดลูกและรังไข่
- ตรวจคัดกรองเชื้อมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep) พร้อม ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส (HPV Vaccine)
วัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่
- วัคซีน Cervarix (2 สายพันธุ์) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18
- วัคซีน Gardasil (4 สายพันธุ์) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 และป้องกันโรคหูดหงอนไก่จากสายพันธุ์ 6 และ 11
- วัคซีน Gardasil (9 สายพันธุ์ ) ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 และป้องกันโรคหูดหงอนไก่จากสายพันธุ์ 6 และ 11
ข้อดีของ HPV Vaccine
- สามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้
- มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัส HPV
- มีผลข้างเคียงน้อย บางท่านอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่หายได้เอง
- สามารถป้องกันไวรัส HPV ได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
การฉีดวัคซีนที่ถูกต้อง
การฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีดให้ครบถ้วนทั้งหมด 3 ครั้ง *แต่ในเด็กผู้หญิง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
- ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก
- ครั้งที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน
- ครั้งที่ 3 : ฉีดหลังจากเข็มที่สอง 6 เดือน
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี ThinPrep และ HPV DNA Cobas Test (สายพันธุ์ 16 และ 18)
การตรวจด้วย 2 วิธีนี้ร่วมกัน สามารถตรวจพบการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่าการตรวจ ThinPrep เพียงอย่างเดียว โดยในการตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ถึง 90% ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ HPV Virus ในขณะที่การตรวจ ThinPrep เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ที่อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งในอนาคต ดังนั้นการตรวจทั้ง 2 วิธีร่วมกัน จะช่วยให้มีโอกาสตรวจพบเชื้อมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้เร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น
ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกตอนอายุเท่าไหร่ บ่อยแค่ไหน?
โดยทั่วไปคุณผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30 ปี หรืออาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ตามความเหมาะสม และควรตรวจคัดกรองทุก ๆ ปี
อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการตรวจคัดกรองอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลและตามการวินิจฉัยของสูตินรีแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจไม่พบ HPV Virus ดังนั้นการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพของคุณผู้หญิงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อป้องกันการเกิดโรค